รู้จักทีม Tech ที่ LINE MAN Wongnai กับโจทย์ Food Delivery ที่เราต้องเจอ [ตอนที่ 1/2]

Boy Pattrawoot
Life@LINE MAN Wongnai
5 min readDec 13, 2022

--

ห่างหายจากการเขียนบล็อกไปนาน ตอนนี้เริ่มมีเรื่องราวอยากเล่าให้ฟังมากพอแล้วโดยเฉพาะ 3 ปีล่าสุดที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ทั้งการรวมกันของ LINE MAN และ Wongnai เพื่อมาลุยในตลาด food delivery อย่างจริงจัง การทำงานอย่างหนักของทีม tech เพื่อพัฒนาระบบต่างๆ ให้ทันต่อความต้องการของทั้งผู้ใช้บริการ food delivery ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง COVID-19 ซึ่งโดยรวมๆ แล้วบทความนี้จะมาทำความรู้จักกับทีม tech ที่ LINE MAN Wongnai กันมากขึ้นครับ

ช่วงที่ผ่านมาเราขยายทีมค่อนข้างเยอะ ได้สัมภาษณ์ candidate จำนวนมากและมีชุดคำถามจากผู้สมัครที่เราน่าจะเอาคำตอบมาเล่าให้ฟังในบล็อกเพราะน่าจะเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับคนที่กำลังสนใจมาร่วมงานกับ LINE MAN Wongnai ได้ ซึ่งคำถามก็มีตั้งแต่เรื่องสิทธิประโยชน์ (perks), โครงสร้างทีมต่างๆ ในบริษัท, ตัวเนื้องาน, วิธีการทำงานในปัจจุบัน ฯลฯ

เรื่องของ perks หรือวิธีการทำงานของเรา สามารถติดตามได้จาก Life at LINE MAN Wongnai ที่มีบทความที่เล่าให้ฟังก่อนหน้านี้บ้างแล้ว แต่ข้อมูลเรื่องทีมและตัวเนื้องานซึ่งเป็นสิ่งที่คนๆ หนึ่งที่จะมาทำงานต้องเจอทุกวันนี่สิที่สำคัญกว่ามากๆ และเราอาจไม่ค่อยได้เล่าออกไป และผมเชื่อว่าตัวงานที่ LINE MAN Wongnai นี่แหละเป็นจุดเด่นที่แท้จริงของเรา เพราะทั้งเป็นธุรกิจที่แทบไม่เหมือนที่อื่น ทั้งมีสเกลที่ใหญ่ ต้องเจอกับคู่แข่งระดับโลก และที่สำคัญคือเป็นบริการที่เราใช้กันได้ทุกวัน และบางคนหรือวันละหลายๆ ครั้ง ซึ่งน่าจะหาบริการที่มีคุณสมบัติแบบเดียวกันได้ยากในประเทศไทย

ทีม Tech ในภาพรวม

มาเริ่มกันที่เรื่องทีมในภาพรวมก่อนครับ ตอนนี้ทีม tech ซึ่งรวมทั้ง engineering, product, data มีอยู่ประมาณ 350 คนที่อยู่ในประเทศไทย แล้วมีทีมงานในต่างประเทศอีกประมาณ 50 คน ในหลากหลายบทบาท เช่น

  • Software Engineer
  • Software Engineer in Test
  • Product Manager
  • Engineering Manager
  • Architect
  • Site Reliability Engineer (SRE)
  • Data Engineer / Data Platform Engineer
  • Data Scientist
  • UX/UI Manager
  • UX/UI Designer
  • UX Researcher
  • UX Writer
  • Visual Designer

แบ่งระดับของ Engineer อย่างไร (Career Ladder)

เราแบ่งเป็น 2 สาย คือสาย Individual Contributor (IC) กับสาย Manager เน้นบริหารคน ที่ต้องแยกสาย IC เพื่อให้คนที่รักการเขียนโค้ด อยากทำงานในด้านเทคนิคให้ลึกและกว้างเรื่อยๆ ก็สามารถเติบโตในสายนี้ไปได้ยาวๆ ไม่ต้องย้ายไปสาย Manager

Level ของ Engineer จะมีตามนี้ครับ

  • Software Engineer I
  • Software Engineer II
  • Senior Software Engineer I
  • Senior Software Engineer II
  • Staff Software Engineer
  • Senior Staff Software Engineer
  • Principal Engineer

สำหรับคนที่อยู่ในระดับ Senior II แล้ว เริ่มสนุกกับงานลักษณะบริหารทีมที่ได้รับมอบหมาย หรือมีทักษะด้านการจัดการคนที่ดี แล้วอยากมาสาย Manager ก็มี Level ให้ไปต่อตามข้างล่างนี้ (มีบทความที่เล่าถึงงานของ EM อยู่ สามารถตามไปอ่านได้ครับ)

  • Engineering Manager
  • Senior Engineering Manager
  • Head of Engineering
  • VP of Engineering

นอกจากนี้ ยังมีบางคนที่อยู่ใน Engineering Track แล้วย้ายไปสาย Product ก็ทำได้เช่นกันครับ

สำหรับรายละเอียดว่าแต่ละ Level เรามีความคาดหวังอย่างไรบ้าง ผมคิดว่าบทความนี้ของ Krist เขียนไว้อย่างละเอียดและค่อนข้างใกล้เคียงกับสิ่งที่เราเป็นอยู่ในตอนนี้แล้วครับ (เพราะเราดูตัวอย่างจากบริษัทใน Silicon Valley แล้วก็นำมาใช้กับเรานี่หล่ะครับ :D)

ขอคั่นโฆษณาซักนิด ตอนนี้มีเปิดตำแหน่งในระดับ Staff/Lead อยู่หลายตำแหน่งนะครับ เช่น AdTech, Merchant (Core), Merchant (Engagement), Search, Software Testing

ทีม tech เกือบ 400 คน ไปอยู่ในส่วนไหนบ้าง?

เวลาบอกว่าทีมมีกี่คน มักมีคนสงสัยว่าทำไมใช้คนเยอะจัง อยากเริ่มด้วยการอธิบายให้เห็นภาพกว้างของธุรกิจ food delivery ก่อนว่าธุรกิจนี้มี ecosystem ที่เรียกว่าเป็น 3-sided marketplace ประกอบไปด้วย

  1. Customer (คนสั่งอาหาร ในบริษัทเราเรียกกันว่า user และบทความนี้ใช้คำว่า user เช่นกัน)
  2. Merchant (ร้านอาหารหรือร้านค้าบน LINE MAN)
  3. Rider (คนส่งอาหาร)

การรักษาสมดุลของทั้ง 3 ส่วนนี้คือโจทย์ที่ท้าทายที่เราต้องเจออยู่ตลอดครับ

เราแบ่งการทำงานทีม tech ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะแยกเข้า squad ตามบริการแต่ละตัว และอีกส่วนเป็น platform team ที่พัฒนาเทคโนโลยีส่วนกลางของบริษัท

ในบทความนี้มาเจาะลงลึกอีกนิดว่ามีทีมอะไรกันบ้างในระบบ squad ที่ต้องช่วยดูแล ecosystem นี้

User (คนสั่งอาหาร)

ปัจจุบันเรามีผู้ใช้แอป LINE MAN เพื่อสั่งอาหาร 10 ล้านกว่าคนต่อเดือน ช่วงโควิดเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างมาก หลายคนได้เริ่มเคยลองสั่งเป็นครั้งแรก และตอนนี้กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วที่เราสั่งอาหารผ่านแอปมากกว่า 1 ครั้งต่อวัน และสั่งบ่อยแทบทุกวัน

แอป LINE MAN

จริงๆ แล้ว คนที่ไม่มีแอป LINE MAN ในมือถืออยู่ ก็สามารถใช้แอป LINE ที่เราไว้แชทกับเพื่อนกันนี่แหละ สั่งอาหารได้เช่นกันครับ (ลองเปิดแอป LINE แล้วกดแท็บ Wallet ที่อยู่ด้านล่างแล้วเลือก Food and Drinks ดูตามได้ครับ)

LINE MAN ในแอป LINE (แท็บ Wallet > Food and Drinks)

มีหลาย squad ที่ดูแลฝั่งของ user อยู่ เราเรียกรวมๆ ว่า “Food squads” ด้วยความที่เป็นส่วนหน้าบ้านที่คนสั่งอาหารใช้งานโดยตรง จึงมีระบบที่ต้องพัฒนาหลากหลายมาก เช่น

Search & Discovery

  • ทำอย่างไรให้ผู้ใช้ค้นหาร้านที่ถูกใจได้ง่ายและเร็วที่สุด โจทย์เรื่องการ Search เป็นโจทย์ที่ค่อนข้างใหญ่และท้าทายมาก รูปแบบการใช้งานมีทั้ง non-keyword search (recommender) และ keyword search ซึ่งงานทั้ง 2 แบบต้องทำงานร่วมกับทีม Data Science เพื่อร่วมกันพัฒนา search algorithm ที่ได้ผลลัพธ์ตามเป้าที่ตั้งไว้

Promotion / Coupon

  • เป็นเรื่องปกติที่แอปแนว e-commerce มีโค้ดส่วนลดแจกแถมเพื่อดึงดูดผู้ใช้เข้ามาใช้งานเป็นประจำ ซึ่ง LINE MAN ก็มีเช่นกัน โจทย์ที่เกี่ยวกับคูปองและโค้ดส่วนลดมีหลากหลายเลย ตั้งแต่เรื่องว่าจะทำอย่างไรให้คูปองที่แจกมีประสิทธิภาพมากที่สุด หรือถ้าในมุมของทางเทคนิค คือทำอย่างไรกับการรับมือกับ traffic surge ที่เข้ามาพร้อมๆ กันในช่วงเวลาสั้นๆ อารมณ์เหมือนเราแย่งกันซื้อตั๋วคอนเสิร์ตศิลปินดังๆ

Payment

  • เพิ่มช่องทางการจ่ายเงินที่ผู้ใช้สะดวกสบายมากที่สุด ตอนนี้เรารองรับบัตรเครดิต บัตรเดบิต Rabbit LINE Pay และการจ่ายออนไลน์ผ่าน K PLUS ซึ่งก็พยายามพัฒนาให้ดีขึ้นตลอด
  • และอื่นๆ อีกมากมาย

นอกจาก food delivery ที่เป็นธุรกิจหลักแล้ว ในแอป LINE MAN ยังมีบริการอื่นๆ อีก ซึ่งแต่ละตัวก็มี Squad ดูแลโดยเฉพาะ

  • LINE MAN Messenger — สำหรับใช้บริการรับส่งพัสดุโดยพี่ๆ ไรเดอร์
  • LINE MAN Mart — สำหรับซื้อสินค้าจากร้านค้าต่างๆ หรือซูเปอร์มาร์เก็ต ให้พี่ๆ ไรเดอร์มาส่ง
  • LINE MAN Taxi — บริการเรียกรถ Taxi

Merchant (ร้านอาหาร/ร้านค้า)

ร้านอาหารและร้านค้าบน LINE MAN มีทุกขนาดตั้งแต่ร้านรถเข็นไปจนถึงร้านเชนใหญ่ๆ ที่มีหลายร้อยสาขา ความต้องการของแต่ละร้านย่อมแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่ทุกร้านมีเหมือนกันคือ ต้องการเห็นยอดขายที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นงานของทีมฝั่ง Merchant จึงต้องเป็นผู้ช่วยร้านในจุดนี้ นั่นคือหาลูกค้ามาเข้าร้าน (พาผู้ใช้ให้กดเข้าไปที่หน้าร้านในแอป) ทั้งที่เป็นแบบ organic หรือผ่าน ads ที่ร้านซื้อเพื่อเพิ่มการมองเห็นให้โดดเด่นขึ้น

Squad ที่เกี่ยวกับของฝั่งของ Merchant มีอยู่หลายทีมครับ

Restaurant Solutions

  • พัฒนาแอป Wongnai Merchant App (WMA) ที่ร้านค้าไว้สำหรับจัดการข้อมูลร้าน, ใช้รับ ออเดอร์จาก LINE MAN, ใช้จัดการโปรโมชั่นของร้าน, ใช้ซื้อโฆษณาเพื่อเพิ่มการมองเห็นของร้านตัวเองในแอป LINE MAN, ใช้ดูรายงานและสถิติต่างๆ เพื่อเอาไปวิเคราะห์ต่อได้ รวมถึงรับคำแนะนำจากเราว่ามีสิ่งไหนที่น่าจะช่วยเพิ่มยอดขายให้กับร้านได้ ฯลฯ
  • พัฒนาระบบ POS (Point of Sale) ชื่อ Wongnai POS สำหรับร้านอาหารที่มีหน้าร้าน เปิดให้นั่งทานอาหารที่ร้านได้ ต้องการการเชื่อมต่อกับห้องครัว ต้องการออกบิล ฯลฯ โดย Wongnai POS เรามีฮาร์ดแวร์ที่เป็น Android แบบสองจอด้วย (เวลาไปร้านอาหาร ลองสังเกตที่แคชเชียร์ดูน่าจะเห็นเครื่อง Wongnai POS ใช้กันในหลายๆ ร้านครับ)
เครื่อง Wongnai POS
ตัวอย่างหน้าจอ Wongnai POS
เครื่อง Wongnai POS Mini

AdTech (Advertising Technology)

  • พัฒนาระบบโฆษณาเพื่อช่วยเพิ่มยอดขายให้ร้าน พัฒนาอัลกอริทึมที่ช่วยแสดงโฆษณาในแอปให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด สามารถแปลงลูกค้าที่มองเห็นโฆษณาไปสู่การสั่งอาหาร เกิดเป็นยอดขายให้กับร้านค้าให้ได้มากที่สุด

Productivity

  • พัฒนาระบบหลังบ้านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องบัญชีและการจ่ายเงินต่างๆ ทีมนี้มีลักษณะเป็น FinOps ยกตัวอย่างเช่น ในแต่ละวันเราต้องสรุปยอดขายให้กับร้านค้าทั้งหมดในระบบ 800,000 ร้าน พร้อมกับการจ่ายเงินให้กับร้านค้าให้ได้เร็วที่สุดเพื่อให้ร้านสามารถนำไปใช้ดำเนินธุรกิจต่อได้อย่างคล่องตัว งานส่วนของ FinOps มีการเชื่อมต่อกับระบบจ่ายเงิน 3rd party หลายราย ซึ่งแต่ละรายมีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป
ตัวอย่างการสรุปยอดขายให้ร้านในแต่ละวัน

Rider (คนส่งอาหาร)

ไรเดอร์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากของ ecosystem แถมยังมีลักษณะที่แตกต่างจากฝั่งของผู้สั่งอาหารและร้านอาหารคือ คนสั่งอาหารสามารถเปลี่ยนแอปในการสั่งอาหารไปมาเพื่อให้ได้ราคาดีที่สุดได้เสมอ ฝั่งร้านอาหารเองก็สามารถเข้าร่วมได้กับทุกแพลตฟอร์มเพื่อเพิ่มช่องทางการขายอาหารให้มากที่สุด

แต่พี่ๆ ไรเดอร์ส่วนใหญ่มักยึดอาชีพนี้เป็นอาชีพหลักและมักเลือกขับกับแพลตฟอร์มเดียวเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงที่สุด ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มมีวิธีต่างๆ เพื่อสร้าง loyalty ของไรเดอร์ให้มากที่สุดเช่นกัน ฝั่งทีมที่ดูแลระบบของไรเดอร์ต้องมั่นใจว่าระบบมีเสถียรภาพสูง เพราะหากระบบล่ม ทุกวินาทีที่ผ่านไปไม่ใช่แค่รายได้ของบริษัทที่สูญเสีย แต่นั่นคือโอกาสการทำรายได้ของพี่ไรเดอร์ที่ไว้วางใจและตัดสินใจเลือกมาขับกับ LINE MAN ด้วย

ในฝั่งของไรเดอร์ เรามี squad ที่ดูระบบ fleet of rider โดยเฉพาะ ทีมเหล่านี้รับหน้าที่พัฒนาระบบที่ไว้กระจายการสั่งอาหารไปให้ไรเดอร์ผ่านแอปที่ชื่อ LINE MAN RIDER (พี่ๆ เค้าเรียกแอปนี้ว่าแอปดำ เพราะไอคอนเหมือน LINE MAN แต่เป็นสีดำ ฮ่าๆ) และยังมีอีกส่วนที่ไม่ได้พูดถึงคือ LINE MAN Taxi ซึ่งในฝั่งคนขับ Taxi มีแอป LINE MAN Taxi อีกตัวไว้กดรับงานด้วยเช่นกัน

ทีมนี้มีโจทย์ใหญ่ๆ อย่างเช่น

  • ทำอย่างไรให้ operation cost อยู่ในจุดที่ธุรกิจต้องการ โดยไรเดอร์ได้รับรายได้ที่เหมาะสมในแต่ละวัน และคนสั่งอาหารได้ประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน
  • ตัวอย่างสิ่งที่ทีมนี้ทำคือ การแก้ไขปัญหาดีมานด์-ซัพพลายของไรเดอร์ในแต่พื้นที่ที่ไม่สมดุลกัน, การคิดอัลกอริทึมที่ดีที่สุดในการกระจายงานให้ไรเดอร์, หาวิธีลดระยะเวลาการรออาหารของลูกค้า ฯลฯ

ฝั่ง Fleet มีงานเรื่องการจ่ายเงิน (FinOps) เหมือนกับฝั่ง Merchant เช่นกัน เพราะแต่ละวันเราต้องสรุปยอดเงินที่ต้องโอนให้กับไรเดอร์จำนวนหลายหมื่นคน

ต่อยอดไปธุรกิจ FinTech

ถึงแม้ food delivery เป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่ก็ยังต่อยอดไปธุรกิจอื่นได้อีกหลายอย่าง ล่าสุดเราเริ่มเข้าสู่ธุรกิจ FinTech แล้วด้วยบริการผ่อนชำระรายวันให้ร้านอาหารหรือไรเดอร์ สามารถสั่งซื้อสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เพื่อยกระดับชีวิตตัวเองและครอบครัว รวมถึงการขยายธุรกิจที่ทำอยู่ การชำระเงินสินค้าเหล่านี้ไม่ต้องจ่ายเงินก้อนในครั้งเดียว แต่เป็นการจ่ายด้วยการหักลบกับรายได้ที่เกิดขึ้นบน LINE MAN ในแต่ละวัน

  • ร้านอาหาร เป็นสินค้าประเภท มือถือ ตู้เย็น เตาไมโครเวฟ เครื่องฟอกอากาศ เพื่อสำหรับขยายธุรกิจ
  • ไรเดอร์ เป็นการซื้อมือถือเพื่อใช้กดรับงานได้ดีขึ้น, ซื้อแท็บเล็ตเพื่อให้ลูกๆ ใช้เรียนหนังสือ

ตรงนี้จึงต้องมีทีมมาพัฒนาระบบสำหรับสั่งซื้อสินค้า ระบบตัดเงิน รวมถึงคำนวณ credit score ด้วยเพื่อลดโอกาสเกิดหนี้เสียให้ได้มากที่สุด

เก็บตกคำถามทั่วไปที่ได้ในระหว่างสัมภาษณ์

Q: แต่ละ squad มีประมาณกี่คน

A: มีขนาดแตกต่างกันไป มีตั้งแต่แบบ 6 คน ไปจนถึง 15–18 คนตามความเหมาะสม ในระยะยาวแล้วทีมขนาดใหญ่บางทีมมีโอกาสแยกตัวเป็นทีมขนาดเล็กลงเพื่อให้คล่องตัวขึ้น หรือโฟกัสงานเฉพาะอย่างมากขึ้น หลักการสำคัญคือเราอยากให้ทุกงานสามารถจบได้ภายใน squad เอง

Q: มีแผนที่ให้คนกลับมาทำงานที่ออฟฟิศกันไหม

A: มี แต่ไม่ได้บังคับ เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า COVID เปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานให้เราชินกับการ Work from Home ไปเรียบร้อย เรามองว่าการกลับมานั่งทำงานที่ออฟฟิศ 5 วัน ไม่ตอบโจทย์อีกต่อไปแล้วสำหรับงานที่สามารถทำจากที่ไหนก็ได้อย่างทีม Engineering แต่การได้เข้าออฟฟิศก็ยังมีข้อดีอยู่มาก ดังนั้นเราก็พยายามกระตุ้นให้ทีมมีนัดเข้ามาที่ออฟฟิศเพื่อเจอหน้ากันบ้าง อาจเป็นวัน release ของสำคัญๆ, นัดมานั่ง pair programming กัน นัดกินข้าวกันหรือทำกิจกรรม team building ร่วมกัน

Q: LINE MAN กับ Wongnai หลังจากควบรวมกันแล้ว ทีม tech เป็นอย่างไรบ้าง?

A: ในภาพใหญ่ของทีม engineering แล้ว ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่นัก เพราะว่าเดิมทีตั้งแต่ก่อนควบรวม แยกงานกันชัดเจนอยู่แล้วคือ LINE MAN รับหน้าที่ดูแลในส่วนหน้าบ้านของ food delivery ทั้งหมด ทั้งฝั่งผู้ใช้งานและฝั่งของไรเดอร์ ส่วน Wongnai รับผิดชอบทางฝั่งร้านอาหาร ตอนบริษัทรวมกันเลยไม่ได้เปลี่ยนแปลงหน้าที่รับผิดชอบ แต่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น

แต่เนื่องจากเรารวมกันในช่วง COVID-19 กำลังระบาดหนัก แถมมีมาตรการห้ามลูกค้านั่งทานที่ร้านได้อีก ทีมงานที่เคยโฟกัสกับแอป Wongnai ซึ่งเป็นเครื่องมือให้คนออกไปกินข้าวนอกบ้านเป็นหลัก ก็ต้องโยกย้ายให้ไปอยู่ตามจุดต่างๆ ของธุรกิจ food delivery แทนเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ให้มากที่สุด มีหลายคนย้าย squad และมีหลายคนเปลี่ยนงาน จากเดิมที่เป็น Mobile Engineer ไปเป็น Backend Engineer ของธุรกิจ food delivery แทนเป็นต้น

Dev Center ที่เชียงใหม่

ทีม Engineering ที่เชียงใหม่

ช่วง Q2 ของปี 2022 เราได้เปิด Development Center ขึ้นมาใหม่อีกที่เชียงใหม่ ตอนนี้มีพนักงาน 20 กว่าคนแล้ว (ออฟฟิศอยู่ที่ Punspace) โดย 80% ของทีมที่เชียงใหม่ทำหน้าที่พัฒนาบริการที่สำคัญตัวหนึ่งของ LINE MAN อย่าง Messenger รองรับการใช้งานได้ 77 จังหวัดทั่วไทยแล้ว ตรงนี้เป็นความภาคภูมิใจของทีมที่เชียงใหม่อย่างมากเลย เพราะเป็นทีมที่เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่ไม่นาน แต่ในที่สุดก็สามารถรับผิดชอบบริการที่สำคัญๆ ได้ด้วยตัวเอง (ป.ล. เรามี Head of Engineering ที่เชียงใหม่ ซึ่งดูแลทั้งทีมที่เชียงใหม่และกรุงเทพด้วยนะครับ สามารถอ่านบทสัมภาษณ์ได้ที่นี่ครับ)

นอกจากที่เชียงใหม่แล้ว เรายังมีพนักงาน tech ที่อยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั้ง หาดใหญ่ ขอนแก่น โดยทำงานอยู่ในทีมเดียวกับที่กรุงเทพ แต่เป็นการทำงานแบบรีโมท 100% ซึ่งก็ไม่ต้องเหงาครับ เพราะเรามีงบให้เดินทางเข้ามาเจอกับทีมที่กรุงเทพเป็นระยะๆ อยู่แล้ว

นอกจากพนักงานประจำแล้ว บางช่วงเวลาเรายังเปิดรับพนักงานแบบ Contractor ด้วย ถ้าสนใจลองคอยเช็กในหน้า Careers เรื่อยๆ ดูได้ครับ

สรุป

ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว น่าจะพอเห็นภาพว่าในธุรกิจ delivery มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ จำเป็นต้องมีทีมพัฒนาส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ความท้าทายของโจทย์เหล่านี้อยู่ในตัวงานที่ทีม tech สัมผัสอยู่ตลอดเวลา และมักไม่สามารถแก้ได้ง่าย หรือด้วยวิธีที่ตรงไปตรงมาเสมอ ต้องมีการลองผิดลองถูกกันหลายครั้งจนกว่าจะได้ผลตามที่ต้องการ แต่เมื่อไรที่เริ่มเห็น impact ที่เกิดขึ้นจากงานของเรา ก็จะสร้างความภูมิใจให้กับทีมงานเป็นอย่างมาก เพราะในท้ายที่สุดแล้วเราย่อมอยากเห็นผู้ใช้งานสะดวกสบายมากขึ้น อยากเห็นร้านค้ามียอดขายที่มากขึ้น และอยากเห็นพี่ๆ ไรเดอร์มีรายได้ที่สม่ำเสมอมาเลี้ยงครอบครัว

ในตอนหน้า เราจะพาไปรู้จักทีมสำคัญอีกส่วนหนึ่งซึ่งไม่ได้อยู่ในระบบ squad แต่ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน

สำหรับตอนนี้ถ้าใครได้อ่านบทความนี้แล้วรู้สึกว่าคันไม้คันมืออยากมาลุยโจทย์เหล่านี้ไปด้วยกัน หรือคิดว่างานแบบนี้แหละที่จะผลักดันตัวเองให้เก่งขึ้นได้เรื่อยๆ ก็สมัครเข้ามาได้เลยครับ เปิดรับหลายตำแหน่งอยู่เรียนเชิญที่ Careers เลยครับ :)

--

--