ไปร่วมงาน AWS re:Invent 2023 แล้วเจออะไรบ้าง?

Nontawat Numor
Life@LINE MAN Wongnai
8 min readJan 5, 2024

--

สวัสดีครับ หลังจากที่ผมห่างหายจากการเขียน Blog ไปสักระยะ ก็ได้โอกาสอันดีในการกลับมาเขียน Blog อีกครั้ง ก่อนอื่นขอแนะนำตัวเองอีกสักครั้งนะครับ

ผมชื่อ นลธวัช หนูมอ (นนท์) ปัจจุบันเป็น Staff Site Reliability Engineer (SRE) ที่ LINE MAN Wongnai (LMWN) ครับ

ในวันนี้ผมจะพาทุกท่านไปชมงานที่เรียกได้ว่า ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบปีของ AWS (Amazon Web Services) เลยก็ว่าได้ครับ และนั่นก็คือ AWS re:Invent 2023 โดยในปีนี้ทาง LMWN ได้รับเชิญจากทาง AWS และได้รับการสนับสนุนจากทาง SiS Distribution (Thailand) PCL. ครับ (ขอบคุณครับบบ)

จุดรับ Badge และ Swag ของ AWS re:Invent

เรียกได้ว่าหากใครอยู่ในวงการ Cloud, Infra คงคุ้นชินกับชื่อ AWS กันเป็นอย่างดี เพราะ AWS เองก็เป็น Public Cloud ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่แล้วด้วย วันนี้เราจะไปดูกันครับว่างานนี้คืออะไร บรรยากาศในงานเป็นอย่างไร รวมไปถึงทีมงาน LMWN ได้ Key Takeaway อะไรบ้างจากงานนี้ครับ

AWS re:Invent คืออะไร?

งาน AWS re:Invent คืองานสัมมนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ AWS ที่จัดขึ้นในแต่ละปี โดยในตัวงานเองจะถูกแบ่งออกเป็นหลาย ๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็น

  • การประกาศ Service, Product, Technology ใหม่ ๆ ของ AWS
  • Success case/Experience จากลูกค้าของ AWS
  • งาน Expo ที่จัดแสดง Service, Product จากนานา Partner ทั่วโลก
  • Technical Session มากมายหลักหลายพัน session

ต้องบอกว่า AWS re:Invent เป็นงานที่ใหญ่มากกกกก (ก.ไก่ ล้านตัว) ใหญ่ขนาดที่ว่า ผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 50,000 คน (ห้าหมื่นจริง ๆ ครับ ไม่ได้พิมพ์ผิด) มี Session มากกว่าหลัก 2,000 session ใช้สถานที่จัดงานทั้งหมด 6 สถานที่กันเลยทีเดียว

Las Vegas สถานที่จัดงาน AWS re:Invent

สถานที่จัดงาน

ในทุกๆ ปีงาน AWS re:Invent จะถูกจัดที่ Las Vegas ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่คนไทยเรียกกันสั้น ๆ ว่าเวกัส (Vegas) นั่นเอง โดยปี 2023 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 Nov — 1 Dec ที่ผ่านมาทั้งหมด 5 วันครับ แต่ส่วนใหญ่ session จะอยู่ 4 วันแรก วันสุดท้ายจัดงานถึงช่วงเที่ยง หลาย ๆ คนก็เดินทางกลับกันแล้วครับ

AWS re:Invent campus

แล้วทำไมเราต้องมานั่งดูแผนที่จัดงานด้วย?

เนื่องจากขนาดของงานค่อนข้างใหญ่ การจัดที่โรงแรม/หอประชุมเดียวคงไม่เพียงพอ งานนี้ทาง AWS ใช้สถานที่ทั้งหมด 6 แห่งในการจัดงาน

เพราะแต่ละสถานที่มันไกลลลล กันมาก ๆๆ ครับ (ในที่นี้ผมจะขอเรียกว่าโรงแรมละกันครับ เพราะส่วนใหญ่จัดในห้องประชุมของโรงแรม) เรียกได้ว่าถ้าเราเดินทางจากเลข 1 สีส้ม (Encore) ไปเลข 6 สีส้ม (Mandalay Bay) เราคงร่วม session ได้แค่ 2–3 session ต่อวัน ต้องไม่ลืมนะครับ ทั้งงานนี้จัดขึ้น 5 วันมี session มากกว่า 2,000 session เลย ถ้าพลาดอันที่เราสนใจไปคงเสียดายแย่เลย

Shuttle bus และ Monorail ที่ใช้เดินทางข้ามสถานที่จัดงาน

การเดินทางในวันงานเราสามารถใช้ Shuttle bus หรือ Monorail ที่ทาง AWS จัดเตรียมไว้ให้ได้ฟรีเลยครับ บางครั้งที่ผมต้องข้ามไปมาระหว่างโรงแรมที่จัดงานก็อาศัย Shuttle bus นี่แหละครับ นอกจากจะทุ่นแรงการเดินทางแล้ว ผมก็แอบงีบหลับในบัสด้วยครับ (ก็งานมันเดินเยอะจนเหนื่อยนี่ ฮ่า ๆๆ )

ทีมงาน AWS re:Invent ที่คอยช่วยเหลือคนหลงทางอย่างผม

หลง !!

แน่นอนครับ งานทั้งใหญ่ ทั้งกว้าง และเยอะขนาดนี้ เราหลงกันเป็นประจำครับ ในตลอดเส้นทางของงานจะมีทีมงานใส่เสื้อสีเหลือง ๆ เขียนว่า Ask me! อยู่ เราสามารถเข้าไปสอบถามเส้นทางในงานได้ตลอดเลย (ผมเองก็แอบถามบ่อย ๆ ครับ เพราะหลงประจำ ฮ่า ๆ ) แถมมีธงเขียนคำว่า AWS re:Invent ไว้ให้มองเห็นแต่ไกลด้วยนะ

จองที่นั่งใน session

ตั้งแต่ก่อนเริ่มงานเราจะสามารถเข้าไปกดจองที่นั่ง (Reserve Seat) ของ session ต่าง ๆ ผ่าน Website/Application ของ AWS Events ล่วงหน้าได้ครับ เนื่องจาก session ที่ฮิตฮอตเนี่ยที่นั่งเต็มตลอด แล้วพอที่นั่งเต็มจะไม่ได้เปิดให้เข้าไปยืนแอบฟังนะครับ เรียกได้ว่าเก้าอี้ในห้องมีกี่ตัว ก็มีผู้เข้าฟังได้แค่นั้นเลย เราเลยต้องจองที่นั่งกันไปก่อน เพื่อการันตีว่าเราจะได้ที่นั่งแน่นอนครับ

YouTube AWS Events

แต่ก็มี Record ย้อนหลังให้ดูนี่?

ใช่ครับ หลายคนอาจจะทราบกันดีว่า AWS re:Invent มี Record ให้ดูกันได้ฟรี ๆ กดจาก YouTube ของ AWS Events ยังได้เลย ฮ่า ๆๆ

แต่ ๆ จะมีบาง session ที่ไม่มี Record ครับ เช่น Chalk Talk

ภาพบรรยากาศใน session

Chalk Talk คืออะไร?

Chalk Talk คือ Session ที่ผู้บรรยายจะมาเล่าสิ่งต่าง ๆ ให้ฟังแล้วมีกระดานอันนึงตั้งอยู่ แล้วก็จะวาด ๆ เขียน ๆ กระดานอันนั้นเพื่อถกประเด็นต่าง ๆ กับผู้ฟังได้

และ Chalk Talk เองนี่แหละครับ ที่จะเป็นกึ่ง ๆ session ปิด ที่เราจะได้มีโอกาสเข้าไปฟังสด ๆ จากบรรดาเหล่าเทพ หรือ Specialist ในหัวข้อนั้น ๆ หลาย ๆ ข้อมูลที่ไม่เคยได้ยินจากที่ไหน เราก็จะได้ยินจากในห้องนี้แหละครับ

ที่สำคัญคือ Chalk Talk ไม่มีการ Streaming/Record ใด ๆ ทั้งสิ้น เรียกได้ว่า พลาดแล้วพลาดเลยครับ !! (ผมเองก็พลาดไปหลายอันมาก ๆ ฮ่า ๆๆ )

จองไม่ทัน / Session อยู่ไกล

แล้วถ้า session นั้น ๆ เราจองไม่ทัน หรือโรงแรมที่จัด session ที่เราอยากฟังอยู่ไกลมาก ๆ ไปไม่ทันแน่ ๆ ทำยังไง?

ในงานเองจะมี Repeat Session ที่สุดฮิตให้อยู่แล้วครับ เราสามารถกดดูตารางใน Application ได้เลยว่าจะมี Repeat อีกครั้งตอนไหน และจัดที่ใด รวมไปถึงกดจองที่นั่งได้เลย

ห้อง SIMULCAST

และในงานมีสิ่งที่เรียกว่า SIMULCAST ด้วย เจ้า SIMULCAST ก็คือเหมือน Live Streaming สด ๆ ให้ดูครับ เช่น โรงแรมที่เราอยากไปดูสดอยู่ไกลมาก ที่โรงแรมเราอยู่ก็จัด SIMULCAST เป็นห้องให้เราไปนั่งใส่หูฟัง แล้วฟังพร้อมกันสด ๆ ได้เลย

ตอนเข้าไปห้องนี้ครั้งแรกแอบตื่นเต้นเล็กน้อย เพราะในห้องตามภาพจะมีหลาย ๆ จอ ซึ่งแต่ละจอก็คือคนละ Session กัน แล้วที่หูฟังจะมีไฟสี ๆ แยกตาม Session ไป ถ้าเราใส่หูฟังสีไหน ก็จะเป็นเสียงของ session นั้น แล้วเราสลับสีไปฟังของ Session อื่นได้ทันทีเลย (Wowww)

ห้องอาหาร

อาหารการกิน

กองทัพต้องเดินด้วยท้อง และแน่นอนว่างานใหญ่ระดับนี้เรื่องอาหารก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กับเนื้อหาของ session เลยครับ

(ห้องอาหารใหญ่มากกก และมีแบบนี้ 6 ที่ตามโรงแรมที่จัดงานเลยครับ)

ในทุกวันงานมีทั้งอาหารมื้อเช้า และมื้อเที่ยงให้ทาน (แน่นอนครับ ผมตื่นไม่ทันมื้อเช้าสักวัน ฮ่า ๆ ) โดยอาหารจะจัดออกเป็น 2 แบบหลัก ๆ คือ Grab & Go และเป็น Buffet ไลน์อาหารให้ตักทานเอง สำหรับใครรีบ ๆ ก็สามารถหยิบกล่อง ๆ อย่าง Grab & Go ออกไปทานข้างนอกได้ หรือจะเลือกทานแบบ Buffet ภายในห้องอาหารก็ได้ครับ

Buffet ไลน์อาหาร และ Grab & Go

นอกจากอาหารที่มีให้แล้ว ในทุก ๆ ช่วงการจัด session เราจะมีของว่างทานเล่นจัดเตรียมมาให้เรื่อย ๆ เลยครับ รวมไปถึงน้ำดื่มที่มีให้เราได้กดดื่มได้ตลอดการเดินชมงานเลย ต้องบอกว่าขนมเยอะมากจริง ๆ ครับ มาแทบให้เห็นตลอดเวลาเลย

ของว่างทานเล่นระหว่างเดินชมงาน

ลงมือทำจริงกับ Workshop

Workshop กับทีมงาน AWS

หลังจากท้องอิ่มแล้ว เรามาเติมอาหารสมองกันต่อครับ

นอกจากจะมี session ที่ให้เราเข้าร่วมฟังแล้ว ยังมี session ที่ให้เราได้ลงมือทำจริงกับ Workshop ด้วยครับ โดยจะเป็นห้องให้เราเข้าไปเปิด Computer ส่วนตัวนั่งทำ Lab จริง ๆ ได้ฟรี พร้อมกับมีทีมงาน AWS คอยช่วยแนะนำเราตลอดการทำ Workshop เลย

ใน Workshop เองก็จะนำ Lab ของ AWS มาให้ลองทำ มีโจทย์ให้แก้ตามครับ ก็ถือเป็นอีกอันที่สนุกดีนะครับ เพราะผมเองก็เข้าฟัง session มาเยอะมาก ๆ ได้เปลี่ยนบรรยากาศมานั่งพิมพ์ ๆ เขียนโค้ดก็สนุกไปอีกแบบ

Expo โชว์ Product จาก Partner

นอกจาก session ต่าง ๆ ที่มากมายจาก AWS แล้ว ในงานเอาก็มีโซนจัดงาน Expo จาก Partner อีกด้วยครับ ในงาน Expo จะเป็น Hall ใหญ่ ๆ ที่แบ่งเป็นโซนย่อย ๆ ให้แต่ละ Partner ได้มาจับจองสถานที่โชว์ของกัน รวมไปถึงแจก Swag แบบกระหน่ำกันสุด ๆ หากใครเป็นสายล่า Swag ต้องไม่พลาด Expo เลยนะครับ เราจะได้คุยกับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละ Product แล้วยังได้ Swag ติดไม้ติดมือกลับบ้านมากมายเลย (ผมเองก็ได้เสื้อกลับมาใส่นุ่ม ๆ หลายตัวเลย ฮ่า ๆ )

เรียกได้ว่า Product ต่าง ๆ เกือบทั้งหมดที่ผมใช้ทำงานในวงการนี้ อยู่ในงาน Expo แห่งนี้เกือบทั้งหมดเลยครับ

ในงาน Expo จะมี Partner ต่าง ๆ มาจัดแสดง Service/Product มากมาย

ในตัวงาน Expo เองนอกจากจะมี Partner มาแสดง Service/Product แล้ว ก็ยังมีทีม AWS เองที่มาจัดแสดง Product ต่าง ๆ รวมไปถึงมีทีม Specialist จากทาง AWS ให้เราเดินเข้าไปถามปัญหาต่าง ๆ ได้โดยตรงอีกด้วยครับ

ห้องฟัง Keynote

Keynote จากผู้บริหารบริษัทระดับโลก

และแน่นอนครับ Highlight ของงานนี้จะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากการมานั่งฟัง Keynote จากผู้บริหารบริษัทระดับโลกอย่าง Amazon.com

หลายคนก็จะบอกว่า แต่เอ… ทุกคนก็นั่งฟัง Keynote live Online อยู่บ้านก็ได้นี่ … ใช่ครับ

แต่หลังจากที่ผมโดนโน้วน้าวโดยทีมงาน AWS เองแล้วว่า

จะมีสักกี่ครั้งในชีวิตที่เราจะได้มานั่งฟัง CEO, CTO ตัวจริงจากบริษัทอันดับต้น ๆ ของโลกอย่าง Amazon มาบรรยายให้ฟังสด ๆ นี่น่าจะนับครั้งในชีวิตได้เลย (ขนลุกก)

แม้กระทั่งทีมงาน AWS เองก็อยากจะเข้ามานั่งฟัง Keynote มาก ๆ ครับ แต่บัตรของทีมงานเข้าไม่ได้ เนื่องจากถูกกันที่นั่งไว้ให้ Attendee เท่านั้นครับ ….

เอาหล่ะ พอผมได้ยินอย่างนี้ผมก็ตั้งตารอเข้าฟัง Keynote เลย…

แต่การฟัง Keynote ไม่ง่ายขนาดนั้นครับ… Keynote จาก CTO ถูกจัดในเวลา 08:30 AM… โอ้ เรามันคนทำงานสาย Tech ด้วยซิ งานเช้าขนาดนี้จะตื่นยังไงไหว? ฮ่า ๆๆ

แต่ไหน ๆ ก็บินข้ามน้ำข้ามทะลมาไกลขนาดนี้ เลยคิดว่า 8 โมงก็ 8 โมง ตื่นไหวแหละ… แต่ ๆๆ ทีมงาน AWS ก็บอกต่อว่า คุณนนท์ควรไปแต่เช้ามาก ๆ ล่วงหน้าสัก 1 ชั่วโมงก็ยังดีครับ เพราะคนอยากเข้าเยอะมาก ๆ และที่นั่งห้องสดมีจำกัด ถ้าเต็มแล้วเต็มเลยครับ OMG…

ต่อคิวเข้าห้อง Keynote ก่อน 45 นาที

และนี่คือภาพการต่อคิวเข้าห้อง Keynote เวลา 07:45 ครับ ผมมาถึงก่อนเวลา 45 นาทีแล้ว… คนก็ยังเยอะมาก ๆๆๆๆ อยู่ดี (OMGG ผมนึกว่าทีม AWS อำกันเล่น ๆ ให้ตื่นเช้า ฮ่า ๆๆ )

Architect with cost in mind

ในงานวันนี้เป็น Keynote จาก Dr. Werner Vogels ที่เป็น CTO ของ Amazon เองเลยครับ

โดย Key Takeaway ที่น่าสนใจคือ

  • The Frugal Architect ที่ถูกเขียนขึ้นมาจากประสบการณ์ของ Dr. Werner ทำขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางให้ทุกคนได้เอาไปใช้ในการออกแบบระบบ โดยแบ่งออกเป็น 3 หัวใจหลักคือ Design, Measure และ Optimize และแบ่งเป็น 7 ข้อย่อย สามารถอ่านเพิ่มเติมจากลิงก์นี้ได้ครับ https://thefrugalarchitect.com/
cost-aware architectures
  • ในทุก ๆ การทำงาน หรือออกแบบ Architect ต้องคำนึงถึงเรื่อง Cost เสมอครับ เพราะถ้าหาก Business โตขึ้นเรื่อย ๆ แต่ Infra Cost ก็ยังโตด้วยความเร็วเท่า ๆ เดิมอยู่แบบนี้ Business จะไปต่อยากครับ เราต้องทำให้ Infra Cost มีความเร็วในการเติบโตที่ช้าลงเรื่อย ๆ แล้ว Business เราก็จะทำกำไรได้
This is too much for a single person to be an expert in.
  • Dr. Werner บอกว่า AWS Service เองมีเยอะมาก ๆๆ เกินกว่าที่มนุษย์ 1 คนจะเชี่ยวชาญทุกอย่างได้ เลยเปิด AI ผู้ช่วยอย่าง Amazon Q ออกมาเพื่อเป็นผู้ช่วยเราในการถามตอบ/ให้คำแนะนำเราสำหรับการใช้งาน AWS
AWS Application Composer in VS Code
  • เปิดตัว AWS Application Composer in VS Code ที่ทำให้เราสามารถ Drag & Drop component ต่าง ๆ ของ AWS แล้วสร้างออกมาเป็น YAML ไฟล์เอาไป deploy CloudFormation ต่อได้ทันที ถือว่าสะดวกขึ้นมาก ๆ หรือกลับกันถ้าเราเขียน YAML มาแล้วอยาก Visualize ก็สามารถใช้สิ่งนี้ได้เช่นกันครับ

Keynote จาก SVP, AWS Utility Computing Products— Peter DeSantis

Amazon Aurora Limitless Database
  • Amazon Aurora Limitless Database — เป็นสุดยอด Aurora DB ที่ทำให้เราสามารถเขียนข้อมูลได้หลักล้าน trx/s รวมไปถึงเก็บ data ได้หลัก PB เลยครับ เลยเป็นที่มาของชื่อว่า Limitless เพราะเราไม่ต้องพึ่งพา Writer แค่ 1 node อีกต่อไป
Amazon ElastiCache Serverless
  • Amazon ElastiCache Serverless — ปัญหากวนใจหลาย ๆ คนคือ เราจะเปิดเครื่อง Redis, Memcached เท่าไหร่ดีถึงจะพอ? เพราะถ้า Overprovisioning เกินไปก็จะเสีย cost เยอะ ถ้าน้อยเกินไปก็ Performance แย่อาจจะลามไปถึงเกิดปัญหากับ Transaction จริงได้ ทาง AWS เลยเปิดตัว Serverless ออกมาเพื่อแก้ปัญหานี้ครับ ต่อไปนี้ก็ไม่ต้องห่วงแล้วว่าถ้าจะเปิดมาเพื่อการ Development เล็ก ๆ น้อย ๆ จะทำยังไงให้คุ้มค่าดี รวมไปถึงจะ Scale ยังไงให้ทันกับ spike workload การเข้ามาของ ElastiCache Serverless ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจครับ
Amazon Redshift Serverless Next-generation AI-driven scaling and optimizations
  • Amazon Redshift Serverless Next-generation AI-driven scaling and optimizations — ทาง AWS เอา AI เข้ามาช่วยจัดการเรื่องการ scaling ของ Redshift เพื่อลดปัญหากวนใจเวลาที่ขนาดของ data เปลี่ยน, concurrent user เข้ามาพร้อมกันเยอะ ๆ รวมไปถึง query ที่ซับซ้อน เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องการ Manual scaling พอมี AI เข้ามาช่วยเลยทำให้จัดการง่ายขึ้น โดย AI จะทำหน้าที่ในการเรียนรู้ Workload ของเราแล้ว scale ให้ auto ทำให้สามารถเพิ่ม Price Performance ได้สูงสุดถึง 10x เท่าเลยครับ

Keynote จาก CEO, AWS — Adam Selipsky

  • เปิดมาด้วยหัวข้อ 80% ของ Unicorn ใช้งาน AWS ครับ (ฮ่า ๆ โชว์ stat ก่อนเลย)
Amazon S3 Express One Zone
  • Amazon S3 Express One Zone — เป็น Storage ที่ออกแบบมาให้ลด Latency ได้สูงสุดถึง 10x เท่าถ้าเทียบกับ S3 Standard โดยทาง AWS เคลมว่าสามารถรับ Request หลัก 100K rps ได้โดยที่ latency ยังอยู่ในเลขหลักเดียวของ millisecond (ms) เหตุผลที่เร็วขนาดนี้เพราะข้อมูลจะถูกเก็บไว้ใน AZ (Availability Zone) เดียวเท่านั้น เหมาะกับงานประเภทที่ต้องการ access data บ่อย ๆ แต่ใช้ไม่นานอย่าง AI/ML training, financial modeling, media processing, HPC (High-performance computing) โดยมี SLA ที่ 99.9% ครับ
AWS Graviton4
  • AWS Graviton4 — อันนี้ผมเองตื่นเต้นเป็นพิเศษครับ เพราะ Graviton4 นี่เร็วกว่า Graviton3 ที่ 30% รวมไปถึงเร็วกว่า 40% เมื่อใช้งานกับ database และ 45% เมื่อใช้กับ Java โดยใส่ core เพิ่มขึ้น 50% และมี memory bandwidth เพิ่มขึ้น 75% เรียกได้ว่าแค่เห็นก็ตาลุกวาวแล้ว อยากเริ่มใช้เร็ว ๆ แล้วครับ (ผมตั้งตารอตั้งแต่ Graviton3 บน RDS แล้วครับ ฮ่า ๆ )
AWS Trainium2
  • AWS Trainium2 — สำหรับชาว generative AI และ ML training ทาง AWS เปิดตัว Trainium2 ที่เร็วกว่า Trainium เดิมถึง 4x เท่า สามารถนำมาต่อกันเยอะ ๆ จนสร้าง supercomputing ระดับ 65 exaflops ได้เลย
Amazon Project Kuiper
  • Amazon Project Kuiper — อันนี้ผมแอบตื่นเต้นเอง เป็น project ที่ส่งดาวเทียมออกไปนอกโลกเพื่อสร้างโครงข่าย internet (คุ้น ๆ เนอะ) และใช่ครับ เจ้าสิ่งนี้คือคู่แข่ง Starlink ของ SpaceX อย่างแน่นอน โดยความคืบหน้าของ project คือมีดาวเทียม 2 ดวงของ Kuiper อยู่บนวงโคจรโลกแล้ว และ Amazon ก็ได้ทำสัญญากับ SpaceX (คู่แข่ง) เพื่อให้ช่วยส่งดาวเทียม Kuiper สู่วงโคจรอีกด้วย ตามแผนคือจะเริ่มเปิดให้ทดสอบการใช้งาน internet ดาวเทียมได้ในภายในกลางปี 2024 ครับ

ตอนแรกผมก็ไม่คิดว่า Blog นี้จะเดินทางมาไกลขนาดนี้ ขอบคุณทุกท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้นะครับ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ จากงาน AWS re:Invent 2023 และ Blog นี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าเราขาดทีมงาน AWS, ทีมงาน SiS รวมไปถึงทีมงาน LMWN ผู้อยู่เบื้องหลังที่ร่วมกันส่งทีม LMWN ไปร่วมงาน ขอพื้นที่ตรงนี้ขอบคุณทุก ๆ ท่านอีกครั้งครับ

ถ้าหากใครสนใจมาร่วมลงมือทำงานที่สนุก ๆ จอยงานน่าตื่นเต้น ๆ แบบนี้ก็สมัครเข้ามาได้เลยที่

https://careers.lmwn.com/

บอกว่าติดตามมาจากพี่นนท์ที่เขียน Blog ยาว ๆ ก็ได้ครับ (ฮ่า ๆ )

ทิ้งท้ายกันไปด้วยภาพน่ารัก ๆ ของทีม SRE ที่เข้าร่วมงาน AWS re:Invent 2023 ครับผมม ไว้เจอกันใหม่ใน Blog หน้านะครับบบ

น้องติ (ซ้าย) และนนท์ (ผม-ขวา) ทีม SRE LMWN ที่งาน AWS re:Invent 2023

--

--